กิจ ๔ ประการ บทที่ ๑

กิจ ๔ ประการ บทที่ ๑
    คือ รู้ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค ได้แก่สมุฏฐาน ๔ ประการ คือ
         ๑. ธาตุสมุฏฐาน
         ๒. อุตุสมุฏฐาน
         ๓. อายุสมุฏฐาน
         ๔. กาลสมุฏฐาน
    สมุฏฐาน แปลว่า ที่ตั้งที่แรกเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ โรคจะบังเกิดขึ้นก็    
เพราะสมุฏฐานเป็นที่ตั้ง ดังจะได้จำแนกสมุฏฐานออกเป็นส่วนตามขั้นตอนต่อไปนี้
กองธาตุสมุฏฐาน
    แปลว่า ที่ตั้งของธาตุ และธาตุแบ่งออกเป็น ๔ กอง คือ          
           ๑. ปถวีสมุฏฐาน ธาตุดินเป็นที่ตั้ง แบ่งออก ๒๐ อย่าง
           ๒. อาโปสมุฏฐาน ธาตุน้ำเป็นที่ตั้ง แบ่งออก ๑๒ อย่าง
           ๓. วาโยสมุฏฐาน ธาตุลมเป็นที่ตั้ง แบ่งออก ๖ อย่าง
           ๔. เตโชสมุฏฐาน ธาตุไฟเป็นที่ตั้ง แบ่งออก ๔ อย่าง
    รวมเป็นธาตุสมุฏฐาน ๔๒ อย่าง หรือจะเรียกว่า สมุฏฐานทั้ง ๔ คือ
ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ก็ได้

ปถวีธาตุ ๒๐ ประการ
๑. เกศา ผม ที่เป็นเส้นงอกอยู่บนศีรษะ
๒. โลมา ขน เป็นเส้นงอกอยู่ทั่วกาย เช่น ขนคิ้ว หนวด เครา เป็นต้น
๓. นขา เล็บ ที่งอกอยู่ตามปลายนิ้วมือและปลายนิ้วเท้า
๔. ทันตา ฟัน ฟันอย่าง ๑ เขี้ยวอย่าง ๑ กรามอย่าง ๑ รวมเรียกว่า ฟัน      
เป็นฟันน้ำนมผลัด ๑ มี ๒๐ ซี่ เป็นฟันแก่พลัด ๑ มี ๓๒ ซี่
๕. ตะโจ หนัง ตามตำราเข้าใจว่าหมายแต่เพียงที่หุ้มกายภายนอกซึ่งมี ๓ ชั้น   
คือ หนังหนา หนังชั้นกลาง หนังกำพร้า
๖. มังสัง เนื้อ ที่เป็นกล้ามและเป็นแผ่นในกายทั่วไป
๗. นหารู เอ็น เส้นและเอ็นในกายทั่วไป
๘. อัฏฐิ กระดูก กระดูกอ่อนอย่าง ๑  กระดูกแข็งอย่าง ๑
๙. อัฏฐิมิญ์ชัง เยื่อในกระดูก 
๑๐. วักกัง ม้าม เกาะอยู่ข้างกระเพาะอาหาร
๑๑. หทยัง หัวใจ อยู่ในทรวงอก สำหรับสูบโลหิต
๑๒. ยกนัง ตับ ตับแก่อยู่ชายโครงขวาและตับอ่อน
๑๓. กิโลมกัง พังผืด เป็นเนื้อยึดหดได้มีอยู่ทั่วกาย
๑๔. ปิหกัง ไต มีอยู่ ๒ ข้าง ขวาซ้ายสำหรับขับปัสสาวะ
๑๕. ปัปผาสัง ปอด มีอยู่ในทรวงอกขวาซ้ายสำหรับหายใจ
๑๖. อันตัง ไส้ใหญ่ ต่อจากไส้น้อยไปหาทวารหนัก
๑๗. อันตคุณัง ไส้น้อย ไส้เล็กที่ขดต่อจากกระเพาะอาหาร
ไปต่อกับไส้ใหญ่
๑๘. อุทรียัง อาหารใหม่ อาหารที่ในกระเพาะอาหาร
ในไส้น้อยและในไส้ใหญ่ตอนบน
๑๙. กรีสัง อาหารเก่า กากอาหารที่ตกจากไส้ใหญ่ตอนบน
มาอยู่ไส้ใหญ่ตอนล่าง 
๒๐. มัตถเกมัตถลุงคัง มันในสมองซึ่งเป็นก้อนอยู่ในศีรษะ
และลามตลอดกระดูกสันหลังติดต่อเนื่องกับเส้นประสาททั่วไป

อาโปธาตุ ๑๒ ประการ
๑. ปิตตัง น้ำดี แยกเป็น  ๒  อย่าง
    ๑.๑ พัทธปัตตัง  น้ำดีในฝัก   
    ๑.๒ พัทธปัตตัง  น้ำดีนอกฝัก
๒. เสมหัง น้ำเสลด แยกเป็น ๓ คือ 
    ๓.๑ ศอเสมหะในลำคอ    
    ๓.๒ อุรเสมหะในหลอดลม 
    ๓.๓ คูถสมหะที่ออกจากทางอุจจาระ
๓. ปุพโพ น้ำหนอง ที่ออกตามแผลต่างๆ เกิดขึ้นเพราะมีเหตุช้ำชอก เป็นต้น
๔. โลหิตัง น้ำเลือด โลหิตแดงอย่างหนึ่ง โลหิตดำอย่างหนึ่ง
๕. เสโท เหงื่อ น้ำเหงื่อที่ออกตามกายทั่ว
๖. เมโท มันขัน เป็นเนื้อมันสีขาวออกเหลืองอ่อนมีในกาย
๗. อัสสุ น้ำตา น้ำใสๆ ที่ออกจากตาทั้ง ๒ ข้าง
๘. วสา มันเหลว หยดมันและน้ำเหลืองในกาย
๙. เขโฬ น้ำลาย น้ำลายในปาก
๑๐. สิงฆานิกา น้ำมูก เป็นน้ำใสที่ออกทางจมูก
๑๑. ลสิกา ไขข้อ น้ำมันที่อยู่ในข้อทั่วไป
๑๒. มูตรตัง มูตร น้ำปัสสาวะที่ออกจากกระเพาะเบา

วาโยธาตุ ๖ ประการ
๑. อุทธังคมาวาตา คือ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดศีรษะ           
บางท่านกล่าวว่า ตั้งแต่กระเพาะอาหารถึงลำคอ ได้แก่เรอ เป็นต้น
๒. อโธคมาวาตา คือ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ศีรษะตลอดถึงปลายเท้า  
บางท่านกล่าวว่าตั้งแต่ลำไส้น้อยถึงทวารหนัก ได้แก่ ผายลม เป็นต้น
๓. กุจฉิสยาวาตา คือ ลมสำหรับพัดอยู่ในท้องแต่นอกลำไส้
๔. โกฏฐาสยาวาตา คือ ลมสำหรับพัดในลำไส้และในกระเพาะ
๕. อังคมังคานุสาริวาตา คือ ลมสำหรับพัดทั่วสรีระกาย)
๖. อัสสาสะปัสสาสะวาตา คือ ลมสำหรับหายใจเข้าออก

เตโชธาตุ ๔ ประการ
    ๑. สันตัปปัคคี คือ ไฟสำหรับอุ่นกาย ซึ่งทำให้ตัวเราอุ่นเป็นปกติอยู่
    ๒. ปริทัยหัคคี คือ ไฟสำหรับร้อนระส่ำระสาย
    ซึ่งทำให้เราต้องอาบน้ำแล้วพัดวี
    ๓. ชิรณัคคี คือ ไฟสำหรับเผาให้แก่คร่ำคร่า ซึ่งทำให้ร่างกายเราเหี่ยวแห้งทรุดโทรม
    ๔. ปริณามัคคี คือ ไฟสำหรับย่อยอาหาร
    ซึ่งทำให้อาหารที่เรากลืนลงไปนั้นให้แหลกละเอียดไป


กองอุตุสมุฏฐาน
    แปลว่า ฤดูเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค ฤดูเป็นของมีอยู่สำหรับโลกใน ๑ ปี
ย่อมแปรไปตามปกติของเดือน วัน อันโลกสมมุติ เรียกสืบต่อกันมาตราบเท่า
ทุกวันนี้ ฤดูในคัมภีร์แพทย์ ท่านแบ่งแยกออก ๓ อย่างคือ
                ๑. แบ่งเป็นฤดู ๓ ฤดูละ ๔ เดือน
                ๒. แบ่งเป็นฤดู ๔ ฤดูละ ๓ เดือน
                ๓. แบ่งเป็นฤดู ๖ ฤดูละ ๒ เดือน
ฤดู ๓
ฤดู ๓ ในหนึ่งปี แบ่งออกเป็น ๓ ฤดูๆ ละ ๔ เดือน
๑. คิมหันตะฤดู (ฤดูร้อน) นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ เดือน ๕ เดือน ๖
เดือน ๗ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นสมุฏฐานเตโช พิกัดสันตัปปัคคี

๒. วสันตะฤดู (ฤดูฝน) นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เดือน ๙ เดือน ๑๐
เดือน ๑๑ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นสมุฏฐานวาโย พิกัดกุจฉิสยาวาตา

๓. เหมันตะฤดู (ฤดูหนาว) นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ เดือน ๑ เดือน ๒
เดือน ๓ ถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ เป็นสมุฏฐานอาโป พิกัดเสมหะโลหิต

ฤดู ๔
ฤดู ๔ ในหนึ่งปี แบ่งออกเป็น ๔ ฤดูๆ ละ ๓ เดือน
- ฤดูที่ ๑ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗
เป็นสมุฏฐานเตโช

- ฤดูที่ ๒ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐         
เป็นสมุฏฐานวาโย

- ฤดูที่ ๓ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑         
เป็นสมุฏฐานอาโป

- ฤดูที่ ๔ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔          
เป็นสมุฏฐานปถวี

ฤดู ๖
ฤดู ๖ ในหนึ่งปี แบ่งออกเป็น ๖ ฤดูๆ ละ ๒ เดือน
- ฤดูที่ ๑ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖
เกิดไข้เพื่อ เตโชธาตุ เพื่อดี กำเดา

- ฤดูที่ ๒ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘
เกิดไข้เพื่อ เตโชธาตุวาโยธาตุ กำเดา  ระคนกัน

- ฤดู ๓ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
เกิดไข้เพื่อ วาโยธาตุ และเสมหะ

- ฤดูที่ ๔ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒
เกิดไข้เพื่อ วาโย เสมหะ และปัสสาวะ

- ฤดูที่ ๕ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๒
เกิดไข้เพื่อ เสมหะ กำเดา  และโลหิต

- ฤดู ๖ นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔
เกิดไข้เพื่อ ปถวีธาตุ โลหิต ลม กำเดาระคนเสมหะ

กองอายุสมุฏฐาน
แปลว่า อายุเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดขอโรค อายุสมุฏฐาน              
แบ่งออกเป็น ๓ อย่างคือ
                ๑. ปฐมวัย(อายุตอนต้น)
                ๒. มัชฌิมวัย(อายุตอนกลาง)
                ๓. ปัจฉิมวัย(อายุตอนปลาย)
๑. ปฐมวัย(อายุตอนต้น) แบ่งออกเป็น ๒ ระยะ
                ก. ระยะแรก นับแต่แรกเกิดจนถึง ๘ ปี
                มีเสมหะเป็นเจ้าเรือนโลหิตแทรก
                ข. ระยะหลัง นับแต่อายุ ๘ ปีจนถึง ๑๖ ปี
                มีโลหิตเป็นเจ้าเรือน เสมหะยังระคน
๒. มัชฌิมวัย(อายุตอนกลาง) นับจากอายุ ๑๖ ปี ถึง ๓๒ ปี
เป็นสมุฏฐานอาโปธาตุ พิกัดโลหิต ๒ ส่วน สมุฏฐานวาโย ๑ ส่วนระคนกัน
๓. ปัจฉิมวัย(อายุตอนปลาย) นับจากอายุ ๓๒ ปี ถึง ๖๔ ปี
เป็นสมุฏฐานวาโยธาตุเป็นเจ้าเรือน อาโปแทรกและพิกัดเสมหะและเหงื่อ

กองกาลสมุฏฐาน
แปลว่า เวลาเป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค กาลสมุฏฐาน
แบ่งไว้เป็นกลางวัน ๔ ตอน กลางคืน ๔ ตอน ดังนี้
เวลากลางวัน
                ๑. นับแต่ย่ำรุ่งจนถึง ๓ โมงเช้า (๐๖.๐๐น. - ๐๙.๐๐น.)
                     สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดเสมหะ
                ๒. นับแต่ ๓ โมงเช้าถึงเที่ยง     (๐๙.๐๐น. - ๑๒.๐๐น.)
                      สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดโลหิต
                ๓. นับแต่เที่ยงถึงบ่าย ๓โมง     (๑๒.๐๐น. - ๑๕.๐๐น.)
                      สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดดี
                ๔. นับแต่บ่าย ๓ โมงถึงย่ำค่ำ    (๑๕.๐๐น. - ๑๘.๐๐น.)
                      สมุฏฐานวาโยธาตุพิกัดลม
เวลากลางคืน
                ๑. นับแต่ย่ำค่ำจนถึง ๑ ยาม  (๑๘.๐๐น. - ๒๑.๐๐น.)
                     สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดเสมหะ
                ๒. นับแต่ ๑ ยามถึง ๒ ยาม  (๒๑.๐๐น. - ๒๔.๐๐น.)
                      สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดโลหิต
                ๓. นับแต่ ๒ ยามถึง ๓ ยาม  (๒๔.๐๐น. - ๐๓.๐๐น.)
                     สมุฏฐานอาโปธาตุพิกัดดี
                ๔. นับแต่ ๓ ยามถึง ๔ ยาม   (๐๓.๐๐น. - ๐๖.๐๐น.)
                     สมุฏฐานวาโยธาตุพิกัดลม

กองประเทศสมุฏฐาน
แปลว่า ประเทศที่อยู่เป็นที่ตั้งที่แรกเกิดของโรค
บุคคลที่เคยอยู่ในประเทศร้อนหรือประเทศหนาวก็ดี เคยอยู่ประเทศใด
ธาตุสมุฏฐานอันมีอยู่ในร่างกาย ก็คุ้นเคยกับอากาศประเทศนั้น
ประเทศสมุฏฐานจัดไว้ ๔  ประการ ดังนี้
                ๑. คนเกิดในประเทศที่สูง เช่น ชาวเขา
                เรียกว่าประเทศร้อน (เตโช)
                ๒. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำกรวดทราย
                เรียกว่า ประเทศอุ่น (อาโป)
                ๓. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำฝนเปือกตม
                เรียกว่า ประเทศเย็น (วาโย)
                ๔. คนเกิดในประเทศที่เป็นน้ำเค็มเปือกตม
                เรียกว่า ประเทศหนาว (ปถวี)